การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาทั่วไป เช่น เคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด การรักษาประเภทนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้ทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษามะเร็งในผู้ป่วยครั้งแรก ในปี ค.ศ. 2017 จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้แก่ CD19 CAR T cells (เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท T cells ที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมให้สามารถจับกับโปรตีน CD19 ที่พบในปริมาณมากในเซลล์มะเร็ง) จุดประสงค์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิธีการรักษาโดยใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดก็ได้นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น และยังมีผลิตภัณฑ์ยาภูมิคุ้มกันบำบัดอื่นๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีต่อๆ มา รวมถึงยังมีวิธีการรักษาโดยใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดอีกจำนวนมากที่อยู่ในขั้นวิจัยทางคลินิก (Clinical trials) ซึ่งมีโอกาสที่จะขึ้นทะเบียน และนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การรักษาด้วยการใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท dendritic cells, natural killer cells หรือ CAR T cells

Dendritic cells

เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท dendritic cells สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยให้ทำลายเซลล์มะเร็งได้ วิธีการรักษาโดยใช้ dendritic cells นั้น จะเริ่มจากการเจาะเลือด และแยกเอา dendritic cells จากคนไข้ เพื่อมากระตุ้นและให้จับกับ cancer antigens ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในเซลล์มะเร็ง จากนั้นจะฉีด dendritic cells กลับเข้าสู่คนไข้ เพื่อให้เซลล์เหล่านี้กระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท T cells ให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งในลำดับต่อไป ปัจจุบันมีการทำการวิจัยในคนเป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาการรักษามะเร็งหลายชนิดโดยใช้ dendritic cells ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย (ตาราง 1)

ชนิดของมะเร็ง Trial ID
มะเร็งเต้านม (Breast cancer) NCT05325632 (II)
NCT04348747 (II)
มะเร็งตับ (Liver Cancer) NCT04912765 (II)
มะเร็งผิวหนัง (Melanoma cancer) NCT02574377 (I&II)
NCT02993315 (III)
NCT01690377 (I)
มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) NCT02692976 (IIa)
มะเร็งชนิดก้อน (Solid Tumors) NCT03707808 (I)

Immunotherapy treatment with patients’ dendritic cells