เนื่องด้วยลักษณะโครงสร้างการจัดการของบริษัทนั้นประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น กรรมการ และฝ่ายจัดการ โดยกรรมการและฝ่ายจัดการเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ควบคุมการบริหารจัดการบริษัทผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการให้เข้าไปทำหน้าที่บริหารจัดการบริษัทแทนตน และมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่สำคัญของบริษัทผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นลักษณะใดของบริษัทก็ตาม เช่น ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ (majority shareholder) ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (minority shareholders) ตลอดจนผู้ถือหุ้นต่างชาติ (foreign shareholders) หรือนักลงทุนสถาบัน (institutional investor) จะต้องได้รับการปฏิบัติจากบริษัทอย่างเท่าเทียมกัน และด้วยความเป็นธรรม

สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น

บริษัทตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้น ทั้งในฐานะที่ผู้ถือหุ้นเป็นทั้งนักลงทุน และเจ้าของบริษัท จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิดังกล่าว ดังนี้

  1. สิทธิในการได้รับข้อมูลสารสนเทศ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา
  2. สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ การซักถามในการประชุมผู้ถือหุ้น และร่วมพิจารณาตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่าง ๆ
  3. สิทธิในการแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการ
  4. สิทธิในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี
  5. สิทธิในส่วนแบ่งผลกำไรของบริษัท ในรูปแบบของเงินปันผล
  6. สิทธิในการได้รับใบหุ้น โอนหุ้น การรับซื้อหุ้นคืนอย่างเท่าเทียมกันในนามบริษัท
  7. สิทธิในการกำหนด หรือแก้ไขวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท
  8. สิทธิอื่น ๆ ตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎระเบียบอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อบังคับของบริษัท

บริษัทเคารพในสิทธิต่างๆ ที่ผู้ถือหุ้นมีอยู่ตามกฎหมาย และ/หรือ ตามข้อบังคับของบริษัท โดยบริษัทจะปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ชาวต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนาใด ซึ่งผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งในด้านการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน ดังนี้

  1. บริษัทส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุม และเสนอชื่อบุคคลเพื่อพิจารณาเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามต่อคณะกรรมการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแต่ละปี ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์
  2. บริษัทไม่มีการเพิ่มวาระการประชุม หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า
  3. คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น ได้ใช้สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายบุคคลคราวละคน หรือคราวละหลายคนรวมกันเป็นคณะครั้งเดียวเต็มตามจำนวนกรรมการทั้งหมดที่จะต้องเลือกตั้งในคราวนั้น ๆ อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการใช้บัตรลงคะแนนเสียงเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
  4. บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติในการใช้ข้อมูลภายใน เช่น นโยบายการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเอง หรือผู้อื่นในทางมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในของกลุ่มบริษัทที่มีสาระสำคัญ และยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น โดยบริษัทได้มีการแจ้งแนวทาง และนโยบายให้ทุกคนในองค์กรถือปฏิบัติ และมีการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ
  5. คณะกรรมการ และผู้บริหารจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณาธุรกรรมของบริษัทที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของบริษัทโดยรวม ซึ่งกรรมการ และผู้บริหาร ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกรรมที่ทำกับบริษัทต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำธุรกรรมดังกล่าว และควรงดเว้นจากการมีส่วนร่วมในการประชุมพิจารณาในวาระนั้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามขั้นตอน หรือมาตรการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันของบริษัท