โรคโควิด-19 คืออะไร?

โรคโควิด-19 (COVID-19) คือโรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Severe Acute Respiratory Syndrome-Coronavirus-2 ; SARS-CoV-2) พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคมปี 2019 ที่ตลาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากนั้นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้มีการกลายพันธุ์เป็นหลากหลายสายพันธุ์และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concerns) หรือสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าเดิม สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดีกว่าเดิม มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ได้แก่

  • สายพันธุ์แอลฟ่า (B.1.1.7)
  • สายพันธุ์เบต้า (B.1.351)
  • สายพันธุ์แกมม่า (P.1)
  • สายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2)
  • สายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529)

สาเหตุและอาการของโรคโควิด-19

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) เกิดจากการได้รับเชื้อจากละอองฝอยหรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยโรคโควิด-19 เช่น ละอองฝอยจากการไอหรือจาม การสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะ การสัมผัสเชื้อที่อยู่บนพื้นผิวของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงการได้รับเชื้อไวรัสที่ล่องลอยอยู่ภายในอากาศด้วย

เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว ผู้ติดเชื้ออาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ และความรุนแรงของอาการก็อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ติดเชื้อแต่ละบุคคล ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ในผู้ป่วยที่แสดงอาการ มักพบอาการเหล่านี้ คือ ไอ เจ็บคอ เป็นไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย และหายใจหอบเหนื่อย

วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัส

การตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) มี 2 วิธี ดังนี้

  1. Rapid test หรือ Antigen test kit (ATK)

    การตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้ชุดทดสอบคือ Antigen test kit (ATK) เป็นชุดทดสอบสำหรับตรวจหาแอนติเจน (Antigen) ของเชื้อไวรัสในสารคัดหลั่งทางโพรงจมูกหรือน้ำลาย เป็นวิธีการตรวจที่ทราบผลได้รวดเร็ว ราคาชุดตรวจไม่แพงเกินไป สามารถหาซื้อได้ง่าย วิธีการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก แต่มีความแม่นยำ (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) น้อยกว่าวิธี RT-PCR วิธีนี้จึงมักใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการป่วยและสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 หากตรวจในตอนที่เพิ่งได้รับเชื้ออาจจะแสดงผลเป็นลบเนื่องจากยังไม่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะตรวจได้ หากเคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันที่สามารถทำลายเชื้อได้ก็อาจให้ผลการทดสอบเป็นลบเช่นกัน

  2. RT-PCR (Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction)

    วิธี RT-PCR เป็นวิธีการตรวจยืนยันเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีความแม่นยำ (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) สูง ใช้สิ่งส่งตรวจจากสารคัดหลั่งบริเวณ Nasopharyngeal และมีขั้นตอนการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนจึงต้องทำการทดสอบโดยบุคลากรทางการแพทย์ โดยวิธีการทดสอบจะใช้เอนไซม์ Reverse Transcriptase เปลี่ยน RNA ของไวรัส SARS-CoV-2 ให้เป็น DNA จากนั้นทำการคัดลอกชิ้นส่วน DNA เพื่อเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัสให้มีปริมาณมากพอที่จะตรวจวิเคราะห์ได้ จึงทำให้วิธีนี้สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสได้แม้จะปริมาณน้อยมาก สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการได้รับเชื้อ และยังสามารถตรวจพบซากเชื้อในระหว่างที่อาการเริ่มดีขึ้นหรือไม่มีอาการแล้วได้อีกด้วย