หมู่โลหิตเริ่มค้นพบใน คศ. 1900 โดย Karl Landsteiner พบหมู่โลหิต A, B, และ O ส่วนหมู่โลหิต AB พบโดย Von Decastello และ Sturli ในปี คศ. 1902

หลังการค้นพบหมู่โลหิตระบบ ABO การให้โลหิตแก่ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้ผู้ค้นพบได้รับรางวัล Noble Prize ในปี ค.ศ.1930 แอนติเจนของหมู่โลหิตเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อแม่สู่ลูก จึงทำให้สามารถบอกความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกได้

หมู่โลหิต คือ การแยกโลหิตของคนเราออกเป็นหมู่/เป็นกรุ๊ป (Group หรือ Type) ตามชนิดของสารชีวเคมี (Biochemicalsubstance) ที่มีชื่อว่า ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) หรือไกลโคไลปิด(Glycolipid) ที่ร่างกายสร้างขึ้นและปรากฏบนผิวเม็ดโลหิตแดงและเรียกว่าแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ซึ่งมีลักษณะจำเพาะในแต่ละหมู่โลหิต

ในระบบ ABO มีหมู่โลหิต 4 ชนิด คือ A B AB และ O โดยเรียกชื่อตามชนิดของ แอนติเจนที่พบบนผิวของเม็ดโลหิตแดง เช่น หมู่ A คือมี A แอนติเจน และมี anti-Bในพลาสมาซึ่งเป็นส่วนน้ำของโลหิต หมู่ B คือมี Bแอนติเจน และมี anti-A ในพลาสมา หมู่ AB คือมี Aและ Bแอนติเจน แต่ไม่มีanti-A หรือ anti-B ในพลาสมา หมู่ O ไม่มี Aและ Bแอนติเจน แต่มี anti-A และ anti-B ในพลาสมา

ด้วยเหตุที่ในระบบ ABO มีแอนติเจนและแอนติบอดีดังกล่าว ซึ่งแอนติบอดีหมายถึงภูมิต้านทานต่อแอนติเจนที่ตนเองไม่มี เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่นอาหารที่เรารับประทาน ในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยจึงต้องให้โลหิตชนิดเดียวกับหมู่โลหิตของผู้ป่วยเสมอ เช่น ให้โลหิตหมู่ Aแก่ผู้ป่วยหมู่ A เป็นต้น แต่กรณีที่ไม่มีโลหิตหมู่เดียวกับผู้ป่วย และเป็นกรณีรีบด่วนซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายถ้าไม่ได้รับโลหิตทันท่วงที เช่น การเสียโลหิตจำ นวนมากจากการผ่าตัด การตกเลือดหลังคลอด เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรืออุบัติเหตุ กรณีเช่นนี้ แพทย์จะให้โลหิตหมู่อื่นทดแทนได้โดยไม่เป็นอันตราย คือ การให้เม็ดโลหิตแดงเข้มข้นหมู่ O แก่ผู้ป่วยหมู่ A หรือ B ให้เม็ดโลหิตแดงหมู่ Aหรือ Bแก่ผู้ป่วยหมู่ AB ในการให้ A หรือBขึ้นกับว่าในขณะนั้นธนาคารเลือดมีหมู่ A หรือ B มากกว่ากัน ส่วนผู้ป่วยหมู่ O จะต้องได้รับโลหิตหมู่ O เท่านั้น การให้โลหิตต่างหมู่ที่เข้ากันไม่ได้จะทำให้มีการแตกทำลายของเม็ดโลหิตแดงที่ให้ เกิดอันตรายที่ร้ายแรงแก่ผู้ป่วยได้

จะเห็นได้ว่า หมู่โลหิต ระบบ ABO ทั้ง 4 ชนิด ล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้ป่วย ในคนไทยมีความชุกของหมู่โลหิตดังนี้ คือ พบหมู่ O มากที่สุด (38 %) รองลงมาคือ B (34 %) A (21 %) และ AB ซึ่งพบน้อยที่สุด (7 %) ในคนไทยพบหมู่ Oและ B มาก ซึ่งแตกต่างจากคนผิวขาว ที่พบหมู่ O และ Aมาก แต่พบหมู่ B น้อย สำ หรับหมู่ AB พบน้อยที่สุดไม่แตกต่างกัน

แหล่งที่มา :

http://th.wikipedia.org/wiki/หมู่โลหิต

http://tsh.or.th/Knowledge หมู่โลหิตมีอะไรบ้าง ความรู้สู่ประชาชน สมาคมโลหิต

วิทยาแห่งประเทศไทย | The Thai Society of Hematology.

https://www.scimath.org>lesson-biology>item(หมู่โลหิต)